Post by : uppalux
***เปลี่ยนโซ่ 428 เป็น 520 ซิแข็งแรงกว่ากันเยอะ?
โซ่เป็นส่วนหนึ่งของระบบส่งกำลังรถ เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสิ้นเปลือง หน้าที่ของมันคือ ส่งแรง รับแรงกระชาก
โซ่ขนาดเล็ก เช่น 420 428 ที่ใส่ใน เวฟ โซนิค cbr นั้นมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบาเพื่อลดภาระของระบบ
โซ่ขนาดใหญ่อย่าง 520 525 530 นั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรับกำลังที่มากขึ้นของเครื่องยนต์ ความทนทานมากขึ้นน้ำหนักก็มากขึ้นตามเนื้อเหล็กด้วย
ลองดูตารางนี้กันก่อน(แต่ละผู้ผลิตจะมีรหัสหรือว่าคุณสมบัติแตกต่างกันไป แต่นี่ให้ดูคร่าวๆ ครับ)
ผมจะไม่พูดถึงคุณลักษณะที่แตกต่างกันของโซ่แต่ละเบอร์ว่าค่านี่หมายถึงอะไรๆ บ้าง มันยาวครับ แต่ที่อยากพูดถึงคือเรื่องของ น้ำหนักของโซ่ และความทนทานต่อแรงดึงของโซ่ น้ำหนักของโซ่ต่อ 100 ข้อ (Weight per 100 link) มีมากแสดงว่าหนักครับ เพราะวัสดุหรือว่าแน่นก็ว่าไป ความทนทานต่อแรงดึง หรือ (tensile strength) ถ้ายิ่งมีมาก โซ่ยิ่งรับภาระได้สูง
ที่ผมต้องพูดถึงเพราะว่าในเว็บนี้นั้น คนที่ใช้ cbr 150 ได้หันไปใช้ชุดโซ่สเตอร์ 520 กันมากขึ้นด้วยนัยที่ว่า “มันทน ไม่ยืด ไม่ต้องตั้งโซ่” ลองดูกันก่อนครับ ทำไมมันถึงทน?
เพราะโซ่ 520 นั้น มี tensile strength มากกว่าโซ่ 428 ราว 1.2-1.5 เท่า ทั้งยังมี wear resistance หรืออายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าถึง 2 เท่าด้วยกัน
ซึ่งรถเล็กๆ อย่าง cbr 150 นั้นสร้างแรงน้อย น้อยกว่าที่จะเอาโซ่อันเดียวกันไปใส่รถ 400 CC แน่ เพราะงั้นยิ่งเอามาใส่ cbr 150 อายุโซ่ก็ยิ่งยืดเข้าไปใหญ่ ไม่แปลกหรอกครับที่ใครเขาจะว่าใช้ทน เพราะมันใช้งานผิดประเภทแบบเกินตัว เหมือนคนจะไปเที่ยวค้างคืน 1 วัน แต่ขนเสื้อผ้าไป 7 ชุด
แต่เรื่องที่สำคัญคือน้ำหนักครับ น้ำหนักของโซ่ เราพยายามลดน้ำหนักกันมามาก เราอยากได้ล้อที่เบาลงล้อแม็กนีเซียม ล้ออลูมิเนียม เราอยากได้ยางที่เบาลง เราอยากได้สเตอร์ที่เบาลงสเตอร์อลูมิเนียม เพราะระบบส่งถ่ายกำลังที่เบาลง จะทำให้กำลังของเครื่องที่มีเท่าเดิม แสดงประสิทธิภาพได้มากขึ้น แต่เรากำลังเพิ่มน้ำภาระของระบบอยู่ ด้วยน้ำหนักของโซ่ที่เพิ่มขึ้น ? จริงเหรอ ?
– โซ่ 428 สำหรับใส่ cbr 150 นั้นจะต้องใช้ 126-128 ข้อ = 1.55 kg
– ถ้าหากจะใส่ชุด 520 จะต้องใช้ราวๆ 100 – 108 ข้อ = 1.60 kg คร่าวๆ
แทบไม่ต่างกันเท่าไหร่เลยครับ แต่ อย่าลืม ว่ามีปัจจัยอีกอย่างคือ สเตอร์หน้าหลัง ซึ่งอันนี้น้ำหนักมากแน่ๆ
แล้วสรุปว่าไง
1.คุณได้โซ่ที่ทนขึ้นครับ รับแรงได้มากขึ้น และมีความทนทานการใช้งานมากขึ้น บางท่านก็ได้ o-ring x-ring มาใส่ก็ทนมากขึ้นไปอีก
2.อาจจะเท่สำหรับคุณ เพราะสเตอร์ใหญ่กว่าเดิม
3.โซ่หนักใกล้เคียงเดิม สเตอร์หนักเพิ่มขึ้น พอควรครับรู้สึกได้ ภาระที่เกิดขึ้นก็ยังมีนะครับ
4.ราคาแพงไงครับ แต่คิดในอีกแง่ ก็คิดได้ว่าเปลี่ยนครั้งเดียวอยู่ได้นานกว่า 428 หลายชุดตั้งเยอะ ก็เป็นไปได้
สรุปความของผม : ทำได้ครับ ไม่เสียหายอะไรมาก แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าการใช้โซ่ 428 นี่ก็เพียงพอแล้ว
***ใช้โซ่ O-RING ซิไม่ต้องดูแล?
โซ่มีสองแบบใหญ่ๆ
1.ธรรมดา แผ่นโลหะล้วนๆ
2.แบบมี o-ring หรือ x-ring หรือองค์ประกอบอื่นใดที่ช่วยในการกักเก็บสารหล่อลื่นไว้ภายใน
โดยโซ่ธรรมดานั้น ถูก และลื่นกว่า แต่มีความทนทานต่อการใช้งานน้อยกว่า โซ่ที่มีองค์ประกอบเสริม ต่อไปขอเรียกแบบเหมารวมว่า “โซ่โอริง”ๆ นั้นมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า แต่ปัจจัยที่ว่าอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่านั้น เพราะอะไร? เป็นดังนี้ครับ
โซ่มันคือโลหะนี่เองครับ ที่งอได้หมุนได้ด้วยจุดยึดต่างๆ ทีนี้ในการใช้งานนั้นโลหะมันเสียดสีกันมันย่อมสึกหรอ โดนแรงกระชาก โดนอากาศ โดนน้ำมัน เป็นสนิม นี่ล่ะครับความเสื่อมของมัน
“โอริง” ที่ว่านั้นเข้ามามีหน้าที่เก็บสารหล่อลื่นเอาไว้ภายในข้อโซ่ ทำให้ภายในนั้นไม่มีอากาศและน้ำเข้าไป ไม่เป็นสนิม และสานหล่อลื่นนั้นช่วยลดการเสียดสีของโลหะ จึงยืดอายุของโซ่ได้ (ดังภาพ)
แต่อย่างไรก็ดี ส่วนที่มีสารหล่อลื่นนั้นมันแค่ส่วนเดียว ยังมีส่วนที่ต้องการการหล่อลื่นจากเราอยู่ดี นั่นคือพื้นที่ระหว่าง ROLLER กับ BUSHING
เพราะงั้น ความเชื่อที่่ว่า โซ่ฉันเป็นโอริงแล้ว ไม่ต้องการการดูแลนั้น ผิด!!!
และความเสื่อมยังเกิดได้อยู่อีก เพราะอย่างไรมันก็เป็นสนิมภายนอกได้อยู่ดี และสนิมภายนอกสามารถลามไปถึงภายในได้ สรุปว่า โซ่โอริงก็ข้อตายได้อยู่ดี
ไม่ว่าคุณจะใช้โซ่ธรรมดา หรือโอริง คุณก้ต้องดูแลมัน ไม่ใช่ซื้อมาใช้ มันก็พังเท่ากันนะครับ
สรุปในส่วนนี้นะครับ โซ่ธรรมดา หรือโอริงก็ช่าง คุณยังต้องทำการหล่อลื่นมันอยู่ และต้องป้องกันการเกิดสนิมให้มันด้วย
***ข้อต่อโซ่มีกี่แบบ แบบไหนดีที่สุด?
การประกอบโซ่มีสองแบบ
1.แบบคลิ๊ปล๊อค กิ๊ปล๊อค แบบกรี๊ป อะไรก็ว่าไป
2.แบบไร้ข้อต่อ แบบย้ำหมุดบานหัว แบบรีเว็ต ทุกชื่ออันเดียวกันครับ
โซ่เดิม 428 ที่ติดรถมานั้นเป็นแบบคลิ๊ปล๊อค คือหน้าตาแบบนี้ครับ
และนี่คือแบบที่ 2 เราเรียกว่า “รีเว็ท”
แล้วไง อันไหนดีกว่ากัน?
ต่างกันครับ โซ่แบบ คลิ๊ปล๊อค นั้นง่ายต่อการติดตั้ง ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเลย ถอดก็ง่ายด้วย แต่ว่าขี่แล้วมีความเสี่ยงที่จะหลุดในรถที่มีกำลังหรือความเร็วรอบเข้าใกล้จุดเสี่ยงของโซ่ มีกรณี “คลิ๊ปหลุด” จนข้อโซ่หลุดจากกัน แล้วโซ่ก็ขาดจากกัน แล้วก็เกิดอุบัติเหตบ่อยมาก โซ่ฟาดแคร้่งเครื่องแตง โซ่พุ่งออกไปด้านหลัง โซ่พันสวิงอาร์ม
ส่วนโซ่แบบ รีเว็ท หรือบานหัวนั้น ปลอดภัยสูงกว่าครับ คือมันไม่หลุดแน่ๆ ละ แต่ว่ามันถอดไม่ได้ และในการทำนั้นต้องใช้เครื่องมือในการบานหัวหมุดโดยเฉพาะ
ซึ่งสำหรับชาว CBR ไปซื้อโซ่ 520 กันมาเกือบ 99 เปอร์เซนต์ใช้แบบคลิ๊ปล๊อค แต่ไม่ต้องกังวลครับ เพราะ cbr 150 นั้นผลิตกำลัง น้อยมากเมื่อเทียบกับความทนทานโซ่แล้ว ไม่หลุดแน่ครับ แค่ติดตั้งให้ถูกต้องก็พอ คือหันส่วนหัวมนของคลิ๊ปไปทางที่โซ่เคลื่อนที่ ดูจากรูปบนเอาก็ได้ครับ
สรุปว่า cbr 150 ใช้อันไหนก็ได้ครับ แต่รถที่มีกำลังมากกว่านี้ต้องใส่ให้ถูก และที่แน่ๆ ยังไงการย้ำหัวรีเว็ทก็มีความมั่นคงสูงกว่าเยอะครับ ปลอดภัยกว่า
***จะดูยังไงว่าควรเปลี่ยนชุดโซ่ แล้วเปลี่ยนยังไง?
เรื่องของการใช้งาน เมื่อใช้ไปซักระยะ โซ่จะหมดอายุ ดูยังไง ดูได้จาก
1.มีข้อตาย เกิดสนิม
2.มีการหลุดของโอริงหรือวัสดุภายในแตกหัก
3.สามารถขยับไปทางด้านข้างได้ (โซ่แกว่งด้วยสาเหตุอะไรซักอย่าง!)
4.ยืด ตั้งจนสุดหางปลาแล้ว จนโซ่ไม่สามารถให้ตัวได้แล้ว
5.โซ่นั้นมักมีความเสื่อมมาพร้อมกับชุดสเตอร์ ถ้าสเตอร์ฟันแหลมแล้ว ก็ควรเปลี่ยนไปด้วยกันยกชุด การเปลี่ยนอย่างใดอย่างหนึ่งโดยอีกอย่างยังเสื่อมอยู่นั้นจะทำให้อายุการใช้งานลดลงเกือบครึ่งได้
เมื่อถึงการนั้นแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนโซ่ ถ้าเป็นโซ่คลิปล๊อค ก็แค่ถอดคลิปออก โดยการดึงไปทางด้านข้าง “ห้ามบิด” เพราะเหล็กที่ทำคลิ๊ปนั้นเป็นเหล็กสปริง คลิปนั้นเมื่อเรา “บิด” ไปแล้วจะเสียทรงและความสามารถในการคืนตัว และจะหลุดง่ายมากเพราะงั้น ดึงออกทางด้านข้างของมัน ข้อโซ่ก็หลุด แบบนี้ครับ
ซึ่งตอนใส่กลับก็เหมือนเดิมครับ ไม่มีอะไรยาก เพราะงั้น วันนี้ จึงมาสาธิตวิธีการใส่โซ่แบบไร้ข้อต่อ หรือแบบ “รีเว็ท” ให้ดูครับ
นี่คือหน้าตาของข้อต่อแบบรีเว็ทครับ จะมีรูกลวงๆ บางทีอาจไม่มีก็ได้
ซึ่งในการใส่โซ่แบบนี้ ต้องมีเครื่องมีบานหัวรีเว็ท ผมไปซื้อ “เครื่องมือตัดโซ่มอเตอร์ไซค์” มาในราคา 500 บาท แล้วไปสั่งโรงกลึงกลึงส่วนที่ใช้ในการบานหัว เห็นสีชาที่เป็นรูปกรวยนั้นมั้ยครับ นั่นคือเครื่องบานหัว (เพราะเครื่องบานหัวโดยตรงราคาแพงมาก)
1. เริ่มต้นด้วยการตัดโซ่เก่าออกก่อน โดนการใช้เครื่องเจียร์หรือว่าอะไรก็ได้ ตัดหัวหมุดของโซ่ออกไป เช่นนี้เอาให้เรียบเกลี้ยง
2.จากนั้นจึงเอาเครื่องมือในการจัดข้อโซ่นั้น มาดันแกนโซ่ออกด้วยแกนเหล็กสีเงินยาวๆ แบบนี้
แกนโซ่ที่หลุดออกมา
โซ่ขาดแล้ววววว
3.จากนั้นเอาโซ่ใหม่มา คล้องใส่เข้าไปครับ ใส่จากสเตอร์หลัง ร้อยไปที่สเตอร์หน้า หมุนๆ แล้วเอามาบรรจบกันที่บนสเตอร์หลังแบบนี้
4.แล้วจึงใส่ข้อสำหรับบานหัวรีเว็ทลงไป ประกอบตามลำดับถ้ามีโอริงอย่าลืมหล่อลื่นโอริงด้วย (ผมไม่ได้ถ่ายรูปมา เพราะมือเปื้อนอยู่ แต่ตามลำดับคือแบบนี้)
5.แล้วก็ใช้เครื่องมือ กดเพลททั้งสองข้างเข้าหากัน ให้ได้ความหนาเท่ากับข้ออื่นๆ โดยการใช้เวอร์เนียร์วัดเทียบกัน
6.เมื่อเข้าไปแล้ว ได้เวลาเอาหัวเหลมมาอัดเพื่อบานหัวรีเว็ท ตรงนี้สำคัญมากครับ ต้องค่อยๆ บานหัว ช้าๆ และค่อยๆ ไป เพราะสิ่งที่ต้องระวังคือการ “บานเกิน หัวแตก”
(รูปเสีย แต่หลักการแล้วจะใช้แบบนี้ครับ ระวังบานเกิน ข้อจะตายนะครับ ระวังให้ดี ค่อยๆหมุนเข้า)
7.เมื่อบานเสร็จแล้วก็ตรวจสอบขนาดของหัวที่บานด้วยเวอร์เนียร์ เทียบกันกับคู่มือที่แถมมาในกล่องโซ่ครับ โดยมากโซ่ 520 นั้นจะมีบอกว่าบานให้ได้ 5.3 – 5.5 -5.8 mm
เรียบร้อย
***ดูแลรักษาโซ่ยังไงดี?
1.อย่าปล่อยให้โซ่แห้ง เพราะแห้งหมายถึงว่าไม่มีการหล่อลื่น นั่นคือน้ำอากาศจะเข้ามาสัมผัสผิวและเป็นสนิมได้
2.อย่าปล่อยให้แห้ง เพราะเศษฝุ่น ทราย ดินที่เข้าไปในโซ่นั้นเป็นตัวทำให้โซ่เสื่อมได้อย่างดี
3.หลังจากโซ่เปียกให้รีบดูแล ลุยน้ำ ล้างรถมา ต้องรีบเช็ดน้ำให้แห้งแล้วลงน้ำมันทันทีครับ
4.คอยหมั่นตั้งโซ่ ดูระยะยืดระยะสวิง ตามคู่มือรถ เมื่อตั้งจนหมดหางปลาแล้วก็พิจารณาเปลี่ยน
5.คอยดูข้อตายที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ
ดูนี่ครับ โซ่ที่ไม่ได้รับการดูแล ข้อแข็ง ฝืด เกือบตาย จับตั้งขึ้นมา เป็นทรงอย่างนี้เลย
หรือ สกปรกคราบฝุ่นดินเกรอะกรัง อันเป็นตัวพาไปสู่สนิม
ที่เราต้องดูแล คือหล่อลื่นภายใน และเคลือบภายนอกครับ
มีผลิตภัณฑสำเร็จรูปมากมายสำหรับฉีดโซ่โดยตรง แต่อย่างไรก็ดี นั่นไม่สามารถทนแทนวิธีการดั้งเดิมที่สุดได้ คือการ
–ล้างให้เอี่ยมด้วยตัวทำละลาย
-หล่อลื่นภายในด้วยน้ำมัน
น้ำมันที่มีความหนืดสูง เช่นน้ำมันเกียร์น้ำมันเฟืองท้ายเบอร์ 90 หรือ 140 ครับ น้ำมันที่มีความหนืดนั้นจะสามารถเกาะติดกับโซ่ได้ดี ปกป้องได้นาน ไม่กระเด็นเมื่อวิ่งความเร็วสูง น้ำมันที่เหลวอ่อน อย่างโซแน็กซ์ น้ำมันเครื่อง แค่วิ่งเกียร์ 3 ก็กระเด็นออกหมดแล้วครับ
-เคลือบภายนอกโดยจารบี
เคลือบภายนอกด้วยจารบีเหลวหรือแห้งก็ตามแต่ เพื่อป้องกันการสัมพผัสกับอากาศไม่ให้เป็นสนิมจากภายนอกลามเข้ามาครับ
วิธีการที่ผมนำเสนอคือ
1.ถ้าสกปรกมาก ให้เอาแปรงทองเหลืองอย่างอ่อนที่สุดมาทำการขัดให้สะอาดก่อนครับ
2.เสร็จแล้วเอาไปใส่ในตัวทำละลาย โซ่แน๊กเขียว โซแน็กเหลือง หรือว่าน้ำมันอะไรก็ว่าไป
3.ซื้อหลอดฉีดยามาดูดน้ำมันเกียร์น้ำมันเฟืองท้าย แล้วหยอดลงในข้อโซ่ทีละข้อ ตามร่องต่างๆ ช้าๆ ค่อยๆ ทำทีละข้อ จนหมด เมื่อทำหมดแล้วหมุนล้อเล่นซักพัก เอามือเนี่ยแหละครับหมุน ไม่ต้องติดเครื่องรถ ให้น้ำมันได้ซึมเข้าไปทั่วซอกหลืบ
4.หมุนซักพัก พอใจแล้วเอาผ้ามาครับ เอาผ้ามาเช็ดน้ำมันส่วนเกินออก จับผ้าทาบโซ่ แล้วหมุนรูดโซ่ ทำไปเรื่อย
“ห้ามติดเครื่องรถเข้าเกียร์ทำ เด็ดขาด เพราะนิ้วท่านจะโดนสเตอร์ตัดขาด เห็นมาหลายคนแล้ว ห้ามครับ ห้าม!!!!!!”
5.เช็ดแห้งจนหมาดแล้ว เอาสเปรย์จารบี หรือว่าอะไรก็ตามที่คิดว่าจะใช้เคลือบ มาเคลือบครับ ของผมใช้บอสนี่กระป๋องฟ้า
รวมภาพให้ดูอีกทีครับ
อันนี้คือ ผลลัพธ์(หลังจากการใช้งาน) ของการใช้สเปรย์จารบีของโซแนกซ์กระป๋องดำ เหนียว ดำเชียวครับ ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ มันเลอะมาก
ส่วนอันนี้เป็น น้ำมันเฟืองท้าย+สเปรย์บอสนี่เคลือบ ผมชอบแบบนี้มากกว่าเพราะว่าไม่กระเด็น และอยู่ได้นาน แถมให้ความรู็สึกสะอาดกว่า ไม่บังสีของโซ่ด้วย
ขอให้ดูแลโซ่ดีๆ นะครับ โซ่ที่ดูแลดี จะลื่น เงียบ มีอายุการใช้งานยาวนาน สวย มีผลต่อการขับขี่เลยครับ
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ติดตามอ่านกระทู้ต้นฉบับได้ที่นี่
::: เรื่องของโซ่ ตัด เปลี่ยน ทำความสะอาด หล่อลื่น เอาเป็นว่าทุกอย่างเกี่ยวกับโซ่ :::
http://www.cbr150club.com/board/index.php?topic=60467.0
และร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การขับขี่ได้ที่นี่เว็บไซต์
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
BigBike Safety Riding ตอนที่ 4 Next Post:
ใส่ท่อสูตรแล้วเห็นผลตอนไหน?