น้ำมันเครื่อง มีความเป็นมายังไง? ใครเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน? ค่าตัวเลขต่างๆมีความหมายว่าอะไร? วันนี้จะพาไปอ่านบทความดีๆที่คุณ Songsak305 เคยโพสบทความไว้ มีประโยชน์สำหรับผู้บริโภคเช่นเราเป็นอย่างมาก ลองไปอ่านดูกัน
***ปัจจุบันนี้ 2014 มาตรฐานของน้ำมันเครื่อง บางค่าได้พัฒนาไปจากบทความนี้ แต่โดยพื้นฐานแล้วยังคงเดิมครับ
ความหมายของตัวเลขต่างๆที่อยู่ข้างกระป๋องนั้น มีความสำคัญต่อการใช้งานของเครื่องยนต์ ซึ่งเราสามารถแบ่งเกรดน้ำมันเครื่องออกได้ สองประเภทด้วยกัน ดังนี้
-แบ่งตามความหนืด
-แบ่งตามสภาพการใช้งาน
– การแบ่งเกรดน้ำมันเครื่องตามความหนืด
จะเป็นที่คุ้นเคยและใช้กันมานานแล้ว และเป็นมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงของอีกหลายสถาบันที่ตั้งขึ้นมาทีหลังอีกด้วย พูดถึงมาตรฐาน ” SAE” คงจะรู้จักกันมาตรฐานนี้ก่อตั่งโดย “สมาคมวิศวกรยานยนต์” ของอเมริกา ( Society of Automotive Engineers) การแบ่งเกรดของน้ำมันเครื่องแบบนี้จะแบ่งเป็นเบอร์ เช่น 30,40,50 ซึ่งตัวเลขแต่ละชุดนั้นจะหมายถึงค่าความข้นใสหรือค่าความหนืดของน้ำมันหล่อลื่น โดยน้ำมันที่มีเบอร์ต่ำจะใสกว่าเบอร์สูง ตัวเลขที่แสดงอยู่นั้นจะมาจากการทดสอบที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส หมายความว่าที่อุณหภูมิทำการทดสอบ น้ำมันเบอร์ 50 จะมีความหนืดมากกว่าน้ำมันเบอร์ 30 เป็นต้น
น้ำมันที่มีตัว ” W” ต่อท้ายนั้นย่อมาจากคำว่า Winter เป็นน้ำมันเครื่องที่เหมาะสำหรับใช้ในอุณหภูมิต่ำ ยิ่งตัวเลขน้อยยิ่งมีความข้นใสน้อย จะวัดกันที่อุณหภูมิต่ำ – 18 องศาเซลเซียสน้ำมันเบอร์ 5W จะมีความข้นใสน้อยกว่าเบอร์ 15W นั่นหมายความว่าตัวเลขสำหรับเกรดที่มี ” W” ต่อท้ายเลขยิ่งน้อย ยิ่งคงความข้นใสในอุณหภูมิที่ติดลบมาก ๆ ได้เหมาะสำหรับใช้งานในประเทศที่มีภูมิอากาศหนาวเย็นมาก อย่างเกรด 0W นั้นสามารถคงความข้นใสได้ถึงประมาณ – 30 องศาเซลเซียส เกรด 20 W สามารถคงความข้นใสได้ถึงอุณหภูมิประมาณ – 10 องศาเซลเซียส น้ำมันเครื่องทั้งสองเกรดนี้เรียกว่า “น้ำมันเครื่องชนิดเกรดเดียว” ( Single Viscosity หรือ Single Grade)
ส่วนน้ำมันเครื่องชนิดเกรดรวม ( Multi Viscosity หรือ Multi Grade) นั้นทาง SAE ไม่ได้เป็นผู้กำหนดมาตรฐานของน้ำมันเกรดรวม แต่เกิดจากการที่ผู้ผลิตสามารถปรับปรุงโดยใช้สารเคมีเข้ามาผสมจนสามารถทำให้น้ำมันเครื่องนั้น ๆ มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานของ SAE ทั้งสองแบบได้เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการใช้งานตามสภาพภูมิประเทศที่มีอุณหภูมิต่างกันมาก การผสมสารปรับปรุงคุณภาพนั้นแตกต่างกันมากน้อยตามความต้องการในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเกรด 5W-40 หรือ 15W-50 แต่การแบ่งเกรดของน้ำมันเครื่องตามความหนืดที่เราเรียกกันเป็นเบอร์นี้สามารถบอกได้แค่ช่วงความหนืดเท่านั้นแต่ไม่ได้บ่งบอกถึงระดับในการใช้งานของเครื่องยนต์แต่ละประเภท
ต่อมาในประมาณปี 1970 SAE,API และ ASTM (American Society for Testing and Masterials) ได้ร่วมมือกันกำหนดการแยกน้ำมันเครื่องตามสภาพการทำงานของเครื่องยนต์เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี่เครื่องยนต์ที่พัฒนาขึ้น เราจึงเห็นได้เห็นจากข้างกระป๋องบรรจุ ตัวอย่างเช่น การบอกมาตรฐานในการใช้งานไว้ API SJ/CF และมีค่าความหนืดของ SAE 20W-50 ควบคู่กันไปด้วยแสดงว่าน้ำมันเครื่องชนิดนี้สามารถใช้กับเครื่องยนต์เบนซินได้เทียบเท่าเกรด SJ ถ้าใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลจะเทียบเท่าเกรด CF ที่ค่าความหนืด SAE 20W-50
– การกำหนดมาตราฐานของน้ำมันเครื่องตามสภาพการใช้งาน
สามารถแบ่งมาตรฐานของน้ำมันเครื่องโดยอ้างอิงสถาบันใหญ่ได้หลายสถาบัน เช่น
สถาบัน “API” หรือสถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐอเมริกา
สถาบัน ” ACEA” ( เดิมเรียก CCMC) เกิดจากการรวมตัวของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ในตลาดร่วมยุโรป
สถาบัน “JASO” เกิดจากการรวมตัวของสถาบันกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น
“API” ย่อมาจาก ” American Petroleum Institute” หรือสถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา ซึ่งจะแบ่งเกรดน้ำมันหล่อลื่นตามสภาพการใช้งานเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ตามชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ก็คือ
“API” ของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิงใช้สัญลักษณ์ “S” (Service Stations Classifications) นำหน้า เช่น SA, SB, SC, SD, SE, SF, SG, SH, SJ, SM ฯลฯ
“API” ของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ใช้สัญลักษณ์ ” C” (Commercial Classifi-cations) นำหน้าเช่น CA, CB, CC, CD, CD-II, CF, CF-2, CF-4, CG-4 ฯลฯ
ACEA ย่อมาจาก ” The Association des Constructeurs Europeens d’Automobile” หรือเป็นทางการว่า European Automobile Manufarturer’ Association สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ในตลาดร่วมยุโรบซึ่งได้แก่ ALFA ROMEO, BRITISH LEYLAND, BMW, DAF, DAIMLER-BENZ, FIAT, MAN, PEUGEOT, PORSCHE, RENAULT, VOLKSWAGEN, ROLLS-ROYCE, และ VOLVO ได้มีการกำหนด มาตรฐานโดยเริ่มใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 1 มกราคม 1996 โดยยกเลิกมาตรฐาน CCMC ไปเนื่องจาก ACEA มีสถาบันเข้าร่วมโครงการมากกว่าและมีข้อกำหนดที่เด่นชัด
JASO ย่อมาจาก “Japanese Automobile Standard Organization” หรือกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเเป็นกลุ่มที่มีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน ต่อมาเรียกรวมเป็นมาตรฐาน ISO โดยเเบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องยนต์เบนซิน และ เครื่องยนต์ดีเซล
————————————————————————————————————–
สำหรับมาตรฐานน้ำมันเครื่องที่เรารู้จักกันมากที่สุด ก็คือมาตรฐาน ” API” และ ” SAE” ซึ่งน้ำมันเครื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่มักจะแจ้งมาคู่กันบางยี่ห้อจะบอกค่าดัชนีความหนืดของ “SAE” อย่างเช่น 5W-30, 15W-40 เป็นต้นและจะมีค่ามาตรฐานที่บอกสมรรถนะของน้ำมันเครื่องกระป๋องนั้นเป็นมาตรฐาน “API” เช่น SE, SF, SG, CC, CD, CE เป็นต้น
ดังนั้นการเลือกใช้น้ำมันเครื่องก็ไม่ควรฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ เลือกใช้ให้เหมาะกับรถก็พอ แต่ควรจะเลือกใช้ค่าความหนืดให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและอาศัยการเปลี่ยนถ่ายที่เหมาะสมแก่เวลา ส่วนการเลือกใช้น้ำมันสังเคราะห์นั้น มันก็ดีที่ช่วยยืดอายุเครื่องยนต์ได้อีกทางแต่มันไม่ค่อยเหมาะสมกับรถที่ใช้งานธรรมดาจะเหมาะกับพวกชอบใช้รอบเครื่องยนต์สูง ๆ ขับซิ่ง ๆ และจุดสำคัญการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุกครั้ง ควรที่จะเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องควรคู่กันไปด้วยนะครับ
บทความเต็มอ่านได้ที่นี้…ClickHere
วิธีการเลือกซื้อ ถุงมือ หมวกกันน็อค รองเท้า Next Post:
โช๊คหัวกลับ UP SIDE DOWN